ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: เฮอร์แปงไจนา (Herpangina)  (อ่าน 29 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 313
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: เฮอร์แปงไจนา (Herpangina)
« เมื่อ: วันที่ 7 กันยายน 2024, 12:17:07 น. »
หมอออนไลน์: เฮอร์แปงไจนา (Herpangina)

Herpangina (เฮอร์แปงไจนา) คือ การติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus Infection) ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยอาจมีแผลเปื่อยในช่องปาก เจ็บคอ เป็นไข้ แต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงมากนัก และสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป Herpangina แพร่กระจายจากคนสู่คนได้ และเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พบบ่อยในเด็กอายุ 1-7 ปี


อาการของเฮอร์แปงไจนา

หลังจากติดเชื้อประมาณ 2 วัน ผู้ป่วยอาจมีตุ่มแดง หรือแผลเปื่อยขอบสีแดงบริเวณเพดานปากและลำคอ ซึ่งสร้างความเจ็บปวด แต่อาจหายได้เองใน 7 วัน ทั้งนี้ ผู้ป่วย Herpangina บางรายอาจมีอาการแตกต่างกันไป เช่น

    มีไข้เฉียบพลันหรือมีไข้สูงกว่า 38.5-40 องศาเซลเซียส
    เจ็บคอ เจ็บปวดขณะกลืนอาหาร
    ปวดหัว ปวดคอ
    ต่อมน้ำเหลืองในคอบวมโต
    น้ำลายไหลยืด (ในเด็กทารก)
    อาเจียน (ในเด็กทารก)
    ปวดท้อง
    เบื่ออาหาร

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

    เจ็บคอ หรือมีแผลในปากนานเกิน 5 วัน
    มีไข้สูงเกิน 41 องศาเซลเซียส และไข้ไม่ลดลง
    มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง อ่อนเพลีย ตาลึกโบ๋ ปัสสาวะน้อยลงหรือมีสีเข้ม เป็นต้น
    อาการต่าง ๆ แย่ลง หรือมีอาการป่วยอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น


สาเหตุของเฮอร์แปงไจนา

Herpangina เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus Infection) ชนิดที่พบบ่อย ได้แก่ เอนเทอโรไวรัส 71 ไวรัสคอกซากี (Coxsackie) ไวรัสกลุ่ม A ชนิด 1-10, 12, 16 และ 22 ซึ่งเป็นไวรัสติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

ไวรัสเหล่านี้สามารถแพร่กระจายได้ทั้งทางปาก ระบบทางเดินหายใจ ทางน้ำสะอาด รวมถึงวัตถุที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ผ้าขนหนู แก้วน้ำ และของเล่น เป็นต้น

ดังนั้น จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากต้องพบเจอ ใกล้ชิดกับผู้ป่วย Herpangina หรือต้องอยู่ในสถานที่ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรงเรียน ค่ายกิจกรรม และสถานที่เลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะในช่วงที่มีความเสี่ยงเกิดโรคสูง อย่างช่วงฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูฝน
การวินิจฉัยเฮอร์แปงไจนา

อาการของ Herpangina คล้ายกับโรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)  ต่างกันที่ Herpangina ไม่มีผื่นขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า จึงอาจสังเกตอาการของโรคนี้ได้ลำบากในบางครั้ง

เมื่อไปพบแพทย์ ในเบื้องต้นแพทย์อาจซักถามอาการ ประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณลำคอและเพดานปาก เนื่องจาก Herpangina มีลักษณะแผลที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ จึงอาจไม่ต้องตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ แต่หากอาการของ Herpangina ค่อนข้างซับซ้อน แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

    เก็บตัวอย่างของเหลวจากโพรงจมูก
    ตรวจปัสสาวะ และอุจจาระ
    ตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ


การรักษาเฮอร์แปงไจนา

โดยปกติ ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจะสร้างแอนติบอดีเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค เช่น ไวรัส และแบคทีเรีย ทำให้อาการส่วนใหญ่อาจหายได้เองภายใน 7-10 วัน และยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต

Herpangina เป็นโรคที่ต้องรักษาตามอาการ วิธีที่ใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ด้วย เช่น อายุ อาการของผู้ป่วย การทนต่อยา โดยแพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษา ดังนี้

    การรักษาด้วยยา กินยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดไข้ อาการปวดและไม่สบายตัว แต่ห้ามใช้ยาแอสไพรินรักษาในเด็กและวัยรุ่น นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการปวดสำหรับช่องปากและลำคอ เช่น ยาลิโดเคน
    การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ดื่มน้ำมาก ๆ โดยเฉพาะนมเย็น น้ำเย็น หรือกินไอศกรีม เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกาย ทดแทนของเหลวที่เสียไปจากการมีไข้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มร้อน และผลไม้ตระกูลส้ม เพราะอาจทำให้เจ็บแผลในปากและคอมากขึ้น


ภาวะแทรกซ้อนของเฮอร์แปงไจนา

เนื่องจากอาการต่าง ๆ ของ Herpangina เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ และสามารถหายได้เอง จึงไม่ค่อยเกิดภาวะแทรกซ้อนบ่อยนัก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจเสี่ยงเผชิญภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ได้

    โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และอาการทางระบบประสาท จากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสอย่างรุนแรง
    หากป่วยด้วย Herpangina ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด  เด็กที่เกิดมามีภาวะตัวเล็ก มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย   


การป้องกันเฮอร์แปงไจนา

Herpangina เป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ จึงควรป้องกันด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
    แยกผู้ป่วยออกจากผู้ที่มีสุขภาพดี และระมัดระวังในการดูแลผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
    ควรปิดปากและจมูกทุกครั้งเมื่อจามหรือไอ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
    ทำความสะอาดของเล่น หรือเครื่องใช้อื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วยด้วยยาฆ่าเชื้อ
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำมูก ของเหลว หรือผ้าอ้อมใช้แล้วของเด็กที่ติดเชื้อ
    หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนแออัด หรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ