ถ้าติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง คงทราบว่ากลุ่มผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มีจำนวนไม่น้อยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขต้องแนะนำให้บุคคลที่อยู่ใน 7 โรคกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยเร็ว เพื่อป้องกันอาการป่วยหนักและลดอัตราการเสียชีวิต ส่วนจะมีโรคอะไรบ้าง และทำไมทั้ง 7 โรคถึงมีความเสี่ยงสูงหากติดโควิด 19 มาทำความเข้าใจกัน
โรคกลุ่มเสี่ยง
1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
ได้แก่ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง, โรคปอดอักเสบเรื้อรัง, โรคถุงลมโป่งพองเรื้อรัง, โรคซิสติกไฟโบรซิส รวมทั้งผู้ป่วยโรคหอบหืดระดับปานกลางถึงรุนแรง
ทำไมถึงมีอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด
เพราะเชื้อไวรัสโคโรนาจะเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจและลงไปทำลายปอด ซึ่งจะทำให้เนื้อปอดได้รับความเสียหาย และเนื่องจากปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอยู่แล้ว ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังจะมีอาการรุนแรงขึ้นได้ เช่นเดียวกับโรคหอบหืดที่เชื้อจะทำให้อาการกำเริบและกระตุ้นให้อาการหนักขึ้น
2. โรคหัวใจและหลอดเลือด
ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ล้วนมีความเสี่ยงหากติดโควิด 19
ทำไมถึงมีอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด
โดยปกติผู้ป่วยจะมีกล้ามเนื้อหัวใจที่บีบตัวผิดปกติอยู่แล้ว หากติดโควิดและเชื้อลงปอดจะทำให้เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เท่าเดิม ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น จนเสี่ยงเกิดเยื่อบุหลอดเลือดอักเสบ หรือมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงขึ้นจากระดับออกซิเจนในเลือดที่ลดลง ถ้าติดเชื้อรุนแรงจะทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจแย่ลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีอาการหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวได้
ต้องรู้อะไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด
ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ แต่หากมีอาการต่อไปนี้ให้รอจนกว่าอาการจะคงที่ หรือให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาอีกที
มีอาการหัวใจกำเริบเฉียบพลันและอาการยังไม่คงที่ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดเฉียบพลัน ให้รอจนกว่าอาการดีขึ้นและคงที่จึงจะฉีดวัคซีน โดยให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเป็นราย ๆ ไป
หากรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) ควรจะต้องมีระดับ INR น้อยกว่า 3 สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ และยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน, โคลพิโดเกรล, ทิคาเกรลอล, พราซูเกรล สามารถฉีดวัคซีนได้ ควรใช้เข็ม 23G หรือเล็กกว่า และไม่คลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน
3. โรคเบาหวาน
การศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ติดโควิดเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าคนที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานถึง 2 เท่าตัว และมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 3 เท่าตัว จึงเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้น ๆ การฉีดวัคซีนป้องกันเป็นการลดความรุนแรงของการติดเชื้อ และลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 90
โดยปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้ป่วยเบาหวานกว่า 3 ล้านคน รวมทั้งพบในเด็กและเยาวชนด้วย ดังนั้นจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว ทั้งผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2
ทำไมถึงมีอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด
ฤทธิ์ของไวรัสจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผันผวนและควบคุมได้ยาก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อต้านไวรัสและเกิดการอักเสบ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดยิ่งสูงขึ้น ซึ่งระดับน้ำตาลที่สูงกว่าปกติทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานลดลง ไวรัสกระจายตัวได้ง่าย
เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดีในเลือดที่มีน้ำตาลสูง และทำให้หลอดเลือดบางจนเกิดภาวะปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว
ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่ออาการรุนแรง
ต้องรู้อะไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด
หลังฉีดวัคซีนอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แนะนำให้เจาะน้ำตาลปลายนิ้วอย่างสม่ำเสมอภายใน 48 ชั่วโมง หลังฉีดยา
4. โรคอ้วน
เกณฑ์ของโรคอ้วนคือ มีค่าดัชนีมวลกาย 30 ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม จัดเป็นกลุ่มที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เพราะมีอัตราเสียชีวิตจากการติดโควิดสูงไม่ต่างจากโรคอื่น ๆ
ทั้งนี้ สามารถเช็กค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ของตัวเองได้ โดยใช้สูตร น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร ยกกำลังสอง)
ดัชนีมวลกาย หาค่า BMI เช็กกันหน่อยไหมคุณอ้วนหรือยัง ?
ทำไมถึงมีอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด
เมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัส ปริมาณไขมันในร่างกายที่มากเกินไปทำให้การอักเสบเพิ่มสูงขึ้น
คนอ้วนมาก ๆ จะมีความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) เนื่องจากไขมันที่สะสมในช่องท้องจะดันกระบังลมขึ้นไปเบียดปอด ส่งผลให้ปอดมีขนาดเล็กลง การขยายตัวของปอดทำได้อย่างจำกัด จึงมีความเสี่ยงสูงขึ้น
ยากต่อการใส่ท่อช่วยหายใจ และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยก็ทำได้ลำบาก
ผู้ที่มีภาวะอ้วนมักมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ส่งผลให้อาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว
คนอ้วนมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขาได้ง่าย เพราะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย และลิ่มเลือดยังสามารถไปอุดตันที่ปอด สมอง หรือหัวใจ และโควิด 19 มีผลทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีภาวะอ้วนร่วมด้วยจะส่งผลให้อาการลิ่มเลือดอุดตันเกิดความรุนแรงได้มากขึ้น
คนอ้วนจะมีระดับภูมิคุ้มกันน้อยกว่าปกติ รวมทั้งการตอบสนองต่อวัคซีนและยาที่ใช้รักษาน้อยกว่าคนปกติ
5. โรคไตเรื้อรัง
ในที่นี้ต้องเป็นผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในระยะ 5 ขึ้นไป หรือไตวายเรื้อรัง รวมทั้งผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต โดยรักษาด้วยการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ล้างไตทางช่องท้อง และผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต
ทำไมถึงมีอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด
ผู้ป่วยโรคไตเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อ เนื่องจากไตทำงานผิดปกติ โดยพบว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องฟอกเลือด ล้างไตทางหน้าท้อง หรือได้รับการปลูกถ่ายไต จะมีโอกาสเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 30-40 เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง จึงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
ต้องรู้อะไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด
หากเป็นผู้ป่วยที่กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูง ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนฉีดวัคซีน
6. โรคหลอดเลือดสมอง
ทำไมถึงมีอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด
โรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก ก็เป็นโรคเสี่ยงที่เมื่อติดโควิด 19 อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากเชื้อไวรัสกระตุ้นให้เกิดภาวะการแข็งตัวของเลือดง่ายกว่าปกติ จึงทำให้มีภาวะหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ต้องรู้อะไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถฉีดวัคซีนได้ ยกเว้นผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการหรืออาการยังไม่คงที่ จะต้องรอให้อาการดีขึ้นก่อนถึงฉีดวัคซีน
สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด, ยาป้องกันเลือดแข็งตัว หากมีผลตรวจระดับการแข็งตัวของเลือด (INR) อยู่ในระดับต่ำกว่า 4.0 ภายใน 1 สัปดาห์ หรืออยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 มาโดยตลอด ไม่จำเป็นต้องหยุดหรือปรับขนาดยาก่อนฉีดวัคซีน สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้ โดยใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก หลังจากฉีดแล้วกดตำแหน่งที่ฉีดไว้นานประมาณ 5 นาที จากนั้นอาจประคบด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็น
7. โรคมะเร็ง
ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เพราะถ้าติดเชื้อแล้วมีโอกาสเป็นโรคที่รุนแรงมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนั้นยังมีโอกาสที่จะมีเชื้อค้างในร่างกายนานและก่อให้เกิดไวรัสกลายพันธุ์
ทำไมถึงมีอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด
เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป
ต้องรู้อะไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด
ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่ได้รับยาต้านมะเร็ง, ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยามุ่งเป้าหรือภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถฉีดวัคซีนได้เลย
ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด หรือกำลังได้รับการผ่าตัด ควรพิจารณารับวัคซีน แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสม
คนไข้มะเร็งระบบเลือดที่ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ควรฉีดหลังจากรักษาครบ 3 เดือนไปแล้ว และควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
ความดันโลหิตสูง อยู่ใน 7 กลุ่มโรคเสี่ยงไหม ?
โรคกลุ่มเสี่ยง
ความดันโลหิตสูงยังไม่ได้จัดอยู่ใน 7 โรคกลุ่มเสี่ยง แต่จากสถิติกลับพบว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในโรคร่วมที่พบได้มากที่สุดในจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 ดังนั้น หากใครมีภาวะความดันโลหิตสูง แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดด้วยเช่นกัน
ทำไมถึงมีอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด
ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า เมื่อคนป่วยโรคความดันโลหิตสูงติดโควิด 19 จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ร้อยละ 17 ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ร้อยละ 7 ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ร้อยละ 9 และทำให้เกิดภาวะหัวใจวายในที่สุด นอกจากนี้ผู้ที่ควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดีอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ ไตวาย
ต้องรู้อะไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด
ควบคุมความดันโลหิตของตัวเองไม่ให้เกินเกณฑ์ก่อนฉีดวัคซีน
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่อยู่ในภาวะคงที่สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ทันที
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีอาการยังไม่เสถียร หรือยังมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น มีความดันโลหิตตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 180 มิลลิเมตรปรอท หรือยังต้องเข้าพักรักษาในโรงพยาบาล ไม่ควรฉีดวัคซีน ต้องควบคุมอาการให้คงที่ก่อนจึงสามารถฉีดได้
กรณีกินยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ระดับ INR (ค่าการแข็งตัวของเลือด) ไม่ควรเกิน 3 เท่า
ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ควรหยุดยาเองก่อนฉีดวัคซีน ยกเว้นกรณีที่แพทย์แนะนำให้หยุดยาชั่วคราวเพื่อให้ผลลัพธ์ของวัคซีนมีความแม่นยำ และเมื่อถึงสถานที่ฉีดวัคซีนแล้วควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังรับประทานยาอะไรอยู่บ้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่
7 โรคกลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 มีอะไรบ้าง ทำไมป่วยแล้วเสี่ยงอาการหนัก ! อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19