Doctor At Home: นิ่วท่อไต (Ureteric stone/Ureteral stone)นิ่วท่อไต (นิ่วในท่อไต ก็เรียก) เป็นนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในไตแล้วตกลงมาในท่อไต เป็นเหตุให้ท่อไตเกิดการบีบตัวเพื่อขับนิ่วออก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในคนทั่วไป
สาเหตุ
นิ่วในท่อไต เป็นนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในไตแล้วตกลงมาในท่อไต มีสาเหตุของการเกิดนิ่วแบบเดียวกับนิ่วในไต (ดู "โรคนิ่วไต")
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง โดยมีลักษณะปวดบิดเป็นพัก ๆ ตรงบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว นานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ
ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ จะมีอาการปวดร้าวไปที่หลังและต้นขาด้านใน (ปวดไปที่อัณฑะหรือช่องคลอดข้างเดียวกับท้องน้อยที่ปวด) ผู้ป่วยมักจะปวดจนดิ้นไปมา หรือใช้มือกดไว้จะรู้สึกดีขึ้น
บางรายอาจปวดมากจนมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่นใจหวิว คลื่นไส้ อาเจียน
ผู้ป่วยจะไม่มีอาการขัดเบา ปัสสาวะมักจะใสเช่นปกติ ไม่ขุ่น ไม่แดง (ยกเว้นบางรายอาจมีปัสสาวะขุ่นแดง)
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้านิ่วก้อนใหญ่หลุดออกเองไม่ได้ ทิ้งไว้อาจทำให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ และไตวายได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายมักจะไม่พบสิ่งผิดปกติ บางรายอาจพบว่ากล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังมีอาการเกร็งตัว หรือมีอาการกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณที่ปวด
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะ (พบว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ) และอาจทำการตรวจพิเศษ เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การใช้กล้องส่องตรวจท่อไต
การรักษาโดยแพทย์
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ให้ยาบรรเทาปวด ได้แก่ ยาแอนติสปาสโมดิก ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีด
ในรายที่มีสาเหตุชัดเจน ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ให้ยารักษาโรคเกาต์ในรายที่เป็นโรคเกาต์
แนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตว่า เวลาถ่ายปัสสาวะมีก้อนนิ่วหลุดออกมาหรือไม่ และนัดมาดูอาการเป็นระยะ ถ้านิ่วก้อนเล็กอาจหลุดออกมาได้เอง
ถ้าก้อนใหญ่ก็จะทำการผ่าตัดเอานิ่วออก หรือใช้เครื่องสลายนิ่ว (extracorporeal shock wave lithotripsy/ESWL) หรือใช้กล้องส่อง (ureteroscope) สอดใส่ผ่านทางท่อปัสสาวะขึ้นไปตามท่อไต แล้วใช้เครื่องมือในการนำเอานิ่วออกมา หรือทำให้นิ่วแตกละเอียดแล้วหลุดออกมากับปัสสาวะ แพทย์อาจใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) ถ่างขยายค้างไว้ในท่อไต เพื่อให้ปัสสาวะไหลออกได้สะดวก
ผลการรักษา เมื่อเอานิ่วออกมาได้ก็จะหายเป็นปกติ แต่บางรายอาจเกิดนิ่วก้อนใหม่ในเวลาต่อมาก็จะให้การรักษาใหม่ ในรายที่เป็นนิ่วท่อไตแล้วปล่อยให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ก็จะมีความยุ่งยากในการรักษาตามมา
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดท้องรุนแรง โดยมีลักษณะปวดบิดเป็นพัก ๆ ตรงบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว นานเป็นชั่วโมง ๆ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นนิ่วท่อไต ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
มีอาการปวดท้องมากขึ้น มีไข้ หนาวสั่น ปวดที่สีข้าง ปัสสาวะขุ่น คลื่นไส้ อาเจียน
ขาดยาหรือยาหาย
กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
1. ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณวันละ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) ระวังอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
2. หลีกเลี่ยงการกินวิตามินซีขนาดสูงเป็นประจำ และหลังกินวิตามินซีควรดื่มน้ำตามมาก ๆ
3. ลดการกินพืชผักที่มีสารออกซาเลตสูง
4. บริโภคเนื้อสัตว์และอาหารที่มีแคลเซียมให้พอเพียง อย่าให้มากเกิน
5. ถ้าเป็นโรคเกาต์ ควรรักษาอย่างจริงจัง และควบคุมกรดยูริกให้อยู่ในระดับปกติ
ข้อแนะนำ
1. นิ่วท่อไตส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีด (ขนาดเล็กกว่า 6 มม.) ซึ่งมักจะหลุดออกมาได้เอง ควรบอกให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะลงกระโถน เพื่อสังเกตดูว่ามีก้อนนิ่วออกมาหรือไม่ ส่วนมากมักจะหลุดออกมาภายในไม่กี่วัน
2. อาการปวดท้องจะหายดังปลิดทิ้งเมื่อนิ่วหลุดออกมา แต่ก็อาจเกิดนิ่วก้อนใหม่ในภายหลังได้อีก
3. เมื่อรักษาหายแล้ว ควรป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ โดยดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตร ดื่มน้ำมะนาววันละ 1 แก้ว (เพิ่มสารซิเทรตในปัสสาวะ ช่วยยับยั้งการเกิดนิ่ว) ลดอาหารที่มีกรดยูริก แคลเซียม และออกซาเลตสูง