ตรวจโรคปัสสาวะขัด (Dysuria)ปัสสาวะขัด (Dysuria) คือ ความรู้สึกเจ็บปวดหรือปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองหรือติดเชื้อที่เนื้อเยื่อบริเวณทางเดินปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หรือบริเวณใกล้ ๆ อวัยวะเพศ เป็นอาการโดยทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่พบได้บ่อยกว่าในเพศหญิง
ปัสสาวะขัดเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการติดเชื้อ เกิดจากการอักเสบหรือระคายเคือง ซึ่งการรักษาอาการปัสสาวะขัดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อ หรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในกรณีที่อาการปัสสาวะขัดเกิดจากผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง
อาการปัสสาวะขัด
อาการปัสสาวะขัดจะแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุ หรือตำแหน่งของโรคที่เป็น เช่น
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
อาการที่อาจเกิดขึ้นจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ได้แก่
ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะออกทีละน้อย
ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นแรง หรือปัสสาวะเป็นเลือด
มีอาการเจ็บที่ท้องน้อยบริเวณใกล้กระเพาะปัสสาวะ
กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
อาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
คลื่นไส้และอาเจียน
มีไข้สูงและหนาวสั่น
ปวดหลังส่วนบน
ปัสสาวะขุ่นหรือปัสสาวะบ่อย
ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)
อาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
ปัสสาวะบ่อย
มีตกขาวหรือของเหลวออกมาจากท่อปัสสาวะ
ส่วนปลายของท่อปัสสาวะเกิดรอยแดง
ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis)
อาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
เจ็บหรือคันที่อวัยวะเพศ
เจ็บหรือรู้สึกไม่สบายในระหว่างมีเพศสัมพันธ์
ตกขาวมีสีคล้ำ หรือมีสีอื่น มีปริมาณมากกว่าปกติ หรือมีกลิ่นเหม็น
สาเหตุของปัสสาวะขัดที่พบได้บ่อย แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
สาเหตุจากการติดเชื้อ
1. โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTI)
เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัด ซึ่งการติดเชื้อเกิดขึ้นได้กับอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ มักมีสาเหตุจากแบคทีเรียเข้าไปในทางเดินปัสสาวะจากทางท่อปัสสาวะในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์
นอกจากนั้น เมื่อผู้หญิงเช็ดทำความสะอาดจากหลังไปหน้าอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทางท่อปัสสาวะ หรือผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มักมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมากโตหรือการติดเชื้อของต่อมลูกหมาก
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ได้แก่
เพศหญิง มีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่าเพศชาย
ผู้สูงอายุ
หญิงตั้งครรภ์
เป็นโรคเบาหวาน
เป็นนิ่วในไต
ต่อมลูกหมากโต
มีประวัติการใช้สายสวนปัสสาวะ
2. ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)
อาจเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่
หนองในเทียม
เริม
3. ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis)
เป็นภาวะที่แบคทีเรียในช่องคลอดเกิดความเปลี่ยนแปลง สาเหตุที่พบบ่อย เช่น
การอักเสบจากเชื้อรา (Candidiasis)
การอักเสบจากแบคทีเรีย
การอักเสบจากเชื้อพยาธิในช่องคลอด (Trichomonas)
สาเหตุจากการอักเสบหรือการระคายเคือง
การอักเสบหรือการระคายเคืองที่ทางเดินปัสสาวะหรือบริเวณอวัยวะเพศเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ต่อไปนี้
เกิดการระคายเคืองจากการมีเพศสัมพันธ์
กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง (Interstitial Cystitis)
มีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
ช่องคลอดเกิดการตอบสนองหรือระคายเคืองจากการใช้สบู่อาบน้ำที่มีกลิ่นหอมหรือผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดที่มีสารฆ่าอสุจิ
การเปลี่ยนแปลงของช่องคลอดที่เกี่ยวข้องกับวัยหมดประจำเดือน
มีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ
เกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด
ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขี่ม้าหรือปั่นจักรยาน
ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในไต อาจมีก้อนนิ่วปิดกั้นทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเจ็บรุนแรง สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนนิ่วใหญ่มาก แพทย์จะใช้วิธีสลายนิ่ว (Lithotripsy) หากวิธีข้างต้นไม่ได้ผลอาจต้องผ่าตัดเอานิ่วออก
นอกจากนั้น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นอีกสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดได้ แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก
การวินิจฉัยปัสสาวะขัด
การวินิจฉัยปัสสาวะขัด ผู้ป่วยอาจสังเกตความผิดปกติได้ด้วยตัวเอง หากพบว่าเกิดอาการหรือความผิดปกติต่อไปนี้ ควรพบแพทย์
รู้สึกเจ็บปวดเวลาปัสสาวะ
มีเลือดปนมากับปัสสาวะ
มีของเหลวหรือตกขาวออกมาจากอวัยวะเพศ
มีอาการปวดหลังหรือเจ็บเอว
มีไข้
เคยมีนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะ
สำหรับสตรีมีครรภ์ หากปัสสาวะแล้วเกิดอาการเจ็บ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
การวินิจฉัยโดยแพทย์
แพทย์จะสอบถามประวัติ อาการต่าง ๆ และตรวจร่างกาย หรืออาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างตรงจุด
แพทย์อาจถามคำถามดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้สามารถพิจารณาหาสาเหตุได้
อาการเกิดขึ้นอย่างไร เช่น เกิดขึ้นทันทีหรือค่อย ๆ เป็น
เกิดอาการบ่อยเพียงใด
ความเจ็บปวดเวลาปัสสาวะ เช่น เกิดความเจ็บปวดตั้งแต่ที่เริ่มปัสสาวะหรือไม่
แพทย์อาจถามถึงอาการที่เกิดร่วมด้วย เช่น อาการไข้ ตกขาวที่ผิดปกติ หรืออาการเจ็บที่หลังหรือเอว รวมไปถึงความผิดปกติในการไหลของปัสสาวะ เช่น มีปัสสาวะหยดอยู่ตลอดเวลา เจ็บปวดเมื่อเริ่มปัสสาวะ หรือความถี่ในการปัสสาวะ
นอกจากนั้น แพทย์อาจถามถึงการเปลี่ยนแปลงของปัสสาวะ เช่น สี ปริมาณ เลือดหรือหนองที่ปนมากับปัสสาวะ แพทย์อาจต้องตรวจปัสสาวะหรือทดสอบอื่น ๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่
ตรวจเลือดเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อใด ๆ หรือไม่
ตรวจปัสสาวะเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย เลือดหรือหนอง หนองใน หนองในเทียม หรือเริม
ตรวจกระเพาะปัสสาวะด้วยการใช้กล้องส่อง (Cystoscopy) เพื่อหาปัญหาที่เกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ
การทำอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการดูภาพกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย
การรักษาปัสสาวะขัด
การรักษาปัสสาวะขัด แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือหากเกิดจากการติดเชื้อที่ไต ซึ่งมีความรุนแรง อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัส
การรักษาอาการปัสสาวะขัดจะรักษาตามสาเหตุ ได้แก่
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) และกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) จากการติดเชื้อ รักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นกรวยไตอักเสบรุนแรง มีอาการไข้ หนาวสั่น หรืออาเจียนร่วมด้วย แพทย์อาจฉีดยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด
ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis) แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในการรักษาตามสาเหตุของการติดเชื้อ เช่น หนองใน คลามัยเดีย หรือหนองในเทียม
ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) และแบคทีเรียในช่องคลอด แพทย์อาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเชื้อรา แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีทั้งแบบยารับประทาน ยาเหน็บและครีม
การรักษาตามอาการ เช่น
ดื่มน้ำมาก ๆ ไม่ควรให้ร่างกายขาดน้ำ
ใช้ยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
ใช้ยาปรับสภาพที่ทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง (Urine Alkalinizing Medication)
หากมีอาการเจ็บปวดหรือมีเลือดปนมากับปัสสาวะ รวมไปถึงมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์
ปัสสาวะบ่อยและอั้นปัสสาวะไม่ได้
ปวดท้อง
ปวดหลัง
มีไข้
เกิดความผิดปกติที่เกี่ยวกับช่องคลอดและท่อปัสสาวะ
ภาวะแทรกซ้อนของปัสสาวะขัด
สาเหตุสำคัญของปัสสาวะขัดมักเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนของปัสสาวะขัดอาจเกิดจากการที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม หรืออาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้
ผู้หญิงที่เคยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ
สำหรับสตรีมีครรภ์ อาจคลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
หากผู้ชายเป็นท่อปัสสาวะอักเสบซ้ำ อาจทำให้ท่อปัสสาวะตีบตัน
ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด (Sepsis)
ติดเชื้อที่ลามจากทางเดินปัสสาวะไปที่ไตเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
ไตได้รับความเสียหายถาวร จากกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง (Pyelonephritis)
เด็กที่มีอาการปัสสาวะขัดอาจได้รับภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ซึ่งมีโอกาสเกิดได้มากกว่าผู้ใหญ่ หากมีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
การป้องกันปัสสาวะขัด
การป้องกันปัสสาวะขัด ทำได้หลายวิธีคือ
ป้องกันอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเวลาปัสสาวะได้ ทั้งยังช่วยเจือจางแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะและทำให้ขับออกมาได้ง่ายขึ้น
ไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดอาจใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะขัดจากสาเหตุโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งจนครบ เชื้อจะได้ถูกกำจัดออกจากร่างกายจนหมด
สำหรับผู้หญิง หลังขับถ่ายควรเช็ดทำความความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง และควรปัสสาวะให้เร็วที่สุดหลังจากการมีเพศสัมพันธ์เพื่อขับแบคทีเรียออก วิธีนี้จะช่วยป้องกันแบคทีเรียเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
เพื่อป้องกันอาการปัสสาวะขัดที่มาจากการระคายเคือง ผู้หญิงควรทำความสะอาดอวัยวะเพศให้แห้งอยู่เสมอ เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงสบู่หรือผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง
เพื่อป้องกันอาการปัสสาวะขัดที่มีสาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย